The Mad World Of Creativity 03 : Dark Design of Street Artists That Change the World
ในเวลาที่ซ้อนทับกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค 1840s ไอน้ำร้อนระอุจากเครื่องจักรในเหมืองได้ควบแน่น รัดตัว และหล่นลงสร้างชีวิตแก่เมล็ดพันธุ์ศิลปะที่ทลายขนบเดิม ออกผลเป็นศิลปะแห่งความจริงที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มศิลปินสัจนิยม (Realism) ผู้ใช้ศิลปะฟอกความคิดเก่าด้วยการนำเสนอชีวิตความเป็นอยู่จริง หลีกหนีศิลปะสูงส่งเดิมแนวศาสนา สำคัญที่สุดคือ ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเพื่อเปิดโปงต้นตอแห่งความเลวร้ายของชีวิต
ร้อยกว่าปีนับจากนั้น ศิลปะสัจนิยมแตกหน่อออกจากพิพิธภัณฑ์ โน้มกิ่งเข้าสู่พื้นที่ศิลปะนอกแบบแผนอย่างท้องถนน ผนังตึก และกำแพงบ้านเรือนในรูปแบบ “Street Art” ศิลปะข้างถนนที่ยังคงให้ประโยชน์แก่สังคมด้วยข้อความเสียดสีสุดแสบสันต์ที่ซ่อนอยู่ในลายเส้นอันงดงาม บ้างสะท้อนความจริงอันเจ็บปวด บ้างเข้าชุบชีวิตมรดกเมืองและสถาปัตยกรรม บ้างจิกกัดศิลปะเดิมแบบกัดไม่ปล่อย และนี่คือโฉมหน้าของบรรดาศิลปินสตรีทอาร์ต ผู้ส่งข้อความข้างถนนที่เขย่าวงการศิลปะและดีไซน์มาแล้วทั่วโลก
1. Banksy : The Dark Design Bad-ass
ศิลปินสตรีทอาร์ตผู้ปักหลักในอังกฤษ ผู้คนจดจำเขาได้ผ่านภาพกราฟฟิตี้ริมกำแพงที่ซ่อนข้อความตะลึงโลกที่บอกเล่าถึงสังคมอันบอบช้ำ เสียดสีความอัปลักษณ์ของการเมืองและสงคราม อาทิ “Season’s Greetings” กราฟฟิตี้สองชิ้นที่ด้านหนึ่งมีกองไฟโชยเขม่าเข้าสู่อีกด้านที่เป็นภาพเด็กน้อยแลบลิ้นชิมเขม่าที่คล้ายหิมะนั้น สะท้อนความเหลื่อมล้ำของชนชั้น “Dismaland” สวนสนุกป๊อปอัปที่พลิกโลกสดใสของดิสนีย์ให้ระทึกขวัญ “Balloon Girl” กราฟฟิตี้และภาพพิมพ์เด็กผู้หญิงคว้าลูกโป่งหลุดลอย ที่สร้างชื่อจากการทำลายตัวเองในทันทีที่เคาะขาย ล่าสุดแบงค์ซี่ได้ละเลงกราฟฟิตี้หนูท่อใส่มาส์กในหลากอิริยาบถ “If You Dont’ Mask, You Don’t Get” ลงในรถไฟใต้ดินในลอนดอนเพื่อรณรงค์ให้ผู้คนสวมหน้ากากอนามัยในช่วงการระบาด
2. Keith Haring : The Pop-Art Activist of Dark Design
ภาพวาดชอล์กสีเส้นหนาหลากลวดลายที่ใช้สะท้อนความย่ำแย่ของการเมือง สงครามอันโหดร้าย และความแตกต่างทางเพศ คือภาษาที่ คีธ แฮริ่ง ศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางสังคมใช้ศิลปะในการแสดงออกทางความคิด เขาเชื่อว่าศิลปะคือการเฉลิมฉลองความเป็นมนุษย์ มิใช่ทำลาย จึงใช้ศิลปะนี้ส่งข้อความเรียกร้องความเท่าเทียมทั้งเรื่องเพศและเสรีภาพให้ปรากฎตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ งานของเขาได้รับอิทธิพลสีสันจากบาสเกีย ศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อดัง ในชีวิตส่วนตัว เขาสนิทสนมกับแอนดี้ วอร์ฮอล์ และ มาดอนนา ผู้ใช้ศิลปะเกื้อเพื่อชีวิตของผู้คน รวมถึงได้จัดตั้ง Keith Haring Foundation เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยเอดส์ มหันตภัยที่คร่าชีวิตเขาในวัยเพียง 31 ปี
3. Vhils : The Dark Design of Lisbon
หากได้ผ่านไปแถวสถานฑูตโปรตุเกสย่านสี่พระยา ต้องสะดุดตากับกราฟฟิตี้นูนต่ำที่กร่อนกำแพงขนาดใหญ่ให้เป็นรูปใบหน้าคน นั่นคือ งานชิ้นหนึ่งของ Vhils หรือ อเล็กซานเดอร์ ฟาร์โต ศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อดังชาวโปรตุเกสที่เริ่มวาดลวดลายตั้งแต่อายุ 13 ปีตามทางรถไฟในลิสบอน เขาพัฒนาฝีมือจนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะคือการกร่อนกำแพงให้เป็นบทกวี เผยความงามในแต่ละชั้นของหินที่ถูกสิ่ว ค้อน สว่าน กรด หรือแม้กระทั่งระเบิดในการทำลาย ความหนักเบาของแต่ละอุปกรณ์ทำให้เกิดสัมผัสที่แตกต่างในหนึ่งผลงาน มิติแปลกใหม่นี้ฉีกกรอบกราฟฟิตี้แบบเดิมๆ และสะดุดสายตาตั้งแต่แรกเห็น
4. Jean-Michel Basquiat : The Radient Dark Design of New York
กราฟฟิตี้สีสันสดใสที่แสดงออกถึงการเปรียบเทียบอย่างสุดขั้ว คือลายเซ็นของฌอง มิเชล บาสเกีย เด็กหนุ่มผิวดำผู้กลายเป็นศิลปินสำคัญในศตวรรษที่ 20 บาสเกียได้รับการสนับสนุนจากแอนดี้ วอร์ฮอล์ ศาสดาแห่งงานป๊อปอาร์ต โดยวอร์ฮอล์เห็นอัจฉริยะของบาสเกียผ่านงานสะท้อนสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำและเหยียดยามทางชนชั้นได้อย่างแสบสันต์ ในหนึ่งภาพบอกเล่าการต่อสู้ต่ออคติทางสังคมอเมริกันที่บาสเกียถูกกดขี่ เขาผสมผสานสื่อหลากหลายทั้งภาพวาด บทกวี และสัญญะที่เรียกร้องถึงความเป็นมนุษย์ จนได้รับสมญาว่าเป็น “The Radiant Child” เด็กหนุ่มผู้เจิดจรัสที่สุดในวงการศิลปะอเมริกันร่วมสมัย
5. Lady Pink : The First Lady of Dark Design
ในโลกศิลปะที่เพศชายเป็นใหญ่ ยิ่งสตรีทอาร์ตด้วยแล้ว มีศิลปินหญิงแทบนับคนได้ ซานดรา ฟาบารา ศิลปินเชื้อสายอเมริกัน-เอกวาดอร์ผู้เติบโตในนิวยอร์ก คือหัวหอกในการทลายแนวคิดเดิมด้วยการรวมกลุ่มศิลปินสตรีทอาร์ตหญิง Ladies of The Arts สร้างพลังหญิงให้เป็นที่ยอมรับในวงการกราฟฟิตี้ ใช้ขบถดีไซน์ในการสะท้อนสังคมผ่านงานสีจัดสะดุดตา จนได้รับยกย่องว่า “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งงานกราฟฟิตี้” ซึ่งศิลปะข้างถนนของเธอได้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ดังๆ อาทิ Whitney Museum และ the MET ตลอดจนเป็นที่ต้องการของนักสะสมงานศิลปะทั่วโลก
.
ศิลปะนอกพิพิธภัณฑ์ที่เขย่าวงการดีไซน์จึงเป็นมากกว่าภาพวาด แต่ยังเป็นข้อความสะท้อนตัวตนผ่านสุนทรียภาพทางศิลปะอย่างสร้างสรรค์ Stone & Style เชื่อมั่นในขบถดีไซน์นอกกรอบ จึงชักชวน 1 ใน 3 ของศิลปินสตรีทอาร์ตระดับโลก (ไม่นับผู้ล่วงลับ) มาสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นฝันที่มากกว่าฝันในเมืองไทย ลองทายกันในใจว่าจะเป็นท่านใดและรอพบกับผลงานของเขาหรือเธอได้ ต้นปี 2021