ข่าวสาร

The Mad World of Creativity #1 : Dangerous Days in #Bauhaus : ผันวันโหดร้ายให้เป็นดีไซน์เขย่าโลก

ตึกระฟ้า อาคารทรงกล่อง เก้าอี้พับ โคมไฟตั้งโต๊ะ ป้ายสถานีรถไฟ และ งาน The MET Gala ทั้งหมดนี้เป็นเพียงอิทธิพลบางส่วนของ Bauhaus Movement (1919 – 1933) ความเคลื่อนไหวที่จะสร้างโลกใบใหม่ภายหลังสงครามโลก และเป็นจุดกำเนิดของปรัชญาการออกแบบสมัยใหม่ที่หยั่งรากลึกในงานดีไซน์ในทุกวันนี้
 
Bauhaus Movement เริ่มต้นที่ “The Bauhaus” โรงเรียนดีไซน์หัวก้าวหน้าชื่อดังในเยอรมนี ก่อตั้งโดย วัลเทอร์ โกรเปียส (Walter Gropius) ว่ากันว่า ชื่อ Bauhaus ผวนมาจาก hausbau หรือการสร้างบ้านในภาษาเยอรมัน จึงเชื่อว่าโกรเปียสต้องการให้สถาบันแห่งนี้เป็น “บ้านแห่งการสร้าง” เสียมากกว่า ที่นี่จึงขับเคลื่อนแนวคิดที่ผสมผสานศิลปะทุกแขนง งานช่างฝีมือคราฟต์ งานออกแบบอุตสาหกรรม และงานสถาปัตยกรรม เพื่อบ่มเพาะจอมยุทธ์แห่งวงการดีไซน์ ผู้มีวิทยายุทธ์เก่งกล้าพร้อมออกท่องยุทธภพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในวันอันโหดร้ายด้วยการออกแบบ
 
#เรียบสงบสยบความเคลื่อนไหว : Bauhaus ผันวันอันตรายในช่วงหลังสงครามและเขย่าโลกด้วยหัวใจแห่งความเรียบง่าย สยบศิลปะฟุ่มเฟือยแบบเดิมๆ ด้วยการลดทอนรายละเอียดไม่จำเป็น ใช้ทรงสากลอย่างเรขาคณิตเป็นองค์ประกอบหลัก และไม่ปิดบังต่อฟอร์มของวัสดุ โดยเอกลักษณ์ทั้งหมดนี้ปรากฎอยู่ในอาคารเรียนสี่เหลี่ยมกรุกระจกโปร่งของ Bauhaus ในเมือง Dessau ที่มองทะลุเห็นโครงเหล็กสุดสะดุดตา เจาะหน้าต่างกว้างให้แสงไหลเข้าสู่พื้นที่ สง่างามสมกับเป็นมรดกโลกในฐานะต้นกำเนิดแห่งแนวคิดโมเดิร์นดีไซน์
 
 
#ยอมหักไม่ยอมงอ : งานออกแบบของ Bauhaus หักกรอบเดิม หันมาตอบโจทย์การผลิตจำนวนมากของโลกยุตสาหกรรมเพื่อลดต้นทุนสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจในยุคนั้น จึงมีการใช้วัสดุสำเร็จรูปอย่างกระจก คอนกรีต และเหล็กกล้าที่ประกอบง่าย ติดตั้งไว คงไว้ซึ่งสุนทรียะของวัสดุด้วยการเปลือยให้เห็นความงาม เช่น เก้าอี้ Wassily’s Chair ออกแบบโดย Marcel Breuer ลูกหม้อผู้ผันตัวเป็นอาจารย์ในโรงเรียน Bauhuas เขาได้ผสานโครงโลหะเข้ากับแผ่นหนัง เปลือยโครงให้เห็นชัดๆ หรือเก้าอี้ Brno ที่มีเพียง 2 ขาของ Ludwig Mies van de Rohe
 
#ฝึกวรยุทธ์ในถ้ำลับ : เพื่อสู้กับวันโหดร้าย Bauhaus รวมปรมาจารย์ทางดีไซน์ทุกแขนงให้นักเรียนได้เรียนรู้จากตัวจริง ไม่ว่าจะเป็นคลาสวาดหุ่นกับพอล คลี (Paul Klee) ปาดสีในคาบจิตรกรรมกับคาร์ดินสกี้ (Wassily Kardinsky) เรียนกราฟิกกับไฟน์นินเกอร์ (Lyonel Feininger) หรือลองออกแบบภายในกับบรอยเออร์ (Marcel Breuer) ยิ่งไปกว่านั้นนอกชั่วโมงเรียน โกรเปียสยังรักที่จะจัดปาร์ตี้ชุดแฟนซีให้นักเรียนได้ประชันลูกบ้าในสไตล์ “The Weirder The Better” ยิ่งเพี้ยนก็ยิ่งถูกใจ ซึ่งงานนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิด The MET Gala งานแฟชั่นประจำปีของ The Metropolitan Museum ในนิวยอร์กอีกด้วย
 
 
#หากมีวาสนาต่อกันแม้ไกลพันลี้ก็ได้เจอ : เชื่อมอดีตสู่ปัจจุบันแม้ไกลพันลี้หรือห่างกันร้อยปี เมื่อวาสนายังมี Bauhaus จึงส่งอิทธิพลแทรกซึมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตึกระฟ้าทรงกล่อง เก้าอี้และโคมไฟในร้านอิเกีย ป้ายสถานีรถไฟในนิวยอร์ก หรือแม้กระทั่งสนามบินสุวรรณภูมิของไทยเรา หากจะใกล้ตัวกว่านั้น แผ่นบุผนังกันเสียงก็เป็นมรดกตกทอดจากงานทอของ Bauhaus เช่นกัน
 
เรียกได้ว่าความเคลื่อนไหวของ Bauhaus Movement ได้ผันความโหดร้ายในวันอันตรายหลังสงครามเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างโลกใบใหม่ ส่งเหล่าจอมยุทธ์ดีไซน์เเผยแพร่แนวคิดเรียบง่ายและเป็นสากล ให้ผู้คนทั่วโลกได้เข้าถึงและใช้งานจริงไปกับดีไซน์สนุกๆ ที่เขย่าโลกได้อย่างทรงพลังจนถึงทุกวันนี้
 
close
0